สินสอด

สินสอด

ในแง่มุมของนักกฎหมายที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย จะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายว่าด้วยการเรียกสินสอดในการสมรส เพราะสินสอดบัญญัติให้เป็นการมอบตอบแทนให้แก่ฝ่ายหญิงฝ่ายเดียว ในขณะที่พ่อแม่ของฝ่ายชายมองว่าลูกชายก็มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูไม่แตกต่างไปจากลูกหญิง แต่ทำไมกฎหมายสินสอดจึงกำหนดให้ฝ่ายชายมอบให้แก่ฝ่ายหญิงอย่างเดียว จึงเป็นกฎหมายที่มีการเลือกปฏิบัติในเรื่องเพศ ซึ่งในเรื่อง การหมั้น กฎหมายไม่ได้วิเคราะห์ความหมายของการหมั้นไว้ชัดเจนเหมือนกับสินสอด

ดังนั้นบทบัญญัติของกฎหมาย ที่ว่าด้วยสินสอดจึงควรมีการยกเลิกเพื่อให้ไม่มีการยกย่องเพศใดเพศหนึ่งโดยไม่ให้ความเป็นธรรมกับอีกเพศหนึ่ง ซึ่งมีหญิงชายเป็นจำนวนมากที่รักกันและไม่ได้แต่งงานกันเพราะไม่สามารถจัดหาเงินสินสอดมาแต่งงานให้สมหน้าสมตาฝ่ายหญิงได้ ซึ่งในบางประเทศเช่นอินเดีย ซึ่งแม้กฎหมายจะบัญญัติตรงข้ามกับประเทศไทยคือกำหนดให้ฝ่ายหญิงต้องจ่ายสินสอดให้ฝ่ายชายแต่ได้ทำให้หญิงที่ประสงค์จะแต่งงานกับชายคนรักต้องฆ่าตัวตายสังเวยการที่ไม่อาจหาสินสอดมาแต่งงานได้

ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่ากฎหมายว่าด้วยสินสอด เป็นกฎหมายหนึ่งที่มีส่วนในการสนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติในเรื่องเพศ เป็นกฎหมายที่ไม่ได้ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย ทำให้เป็นอุปสรรคอย่าง หนึ่ง ที่ทำให้ชายหญิงซึ่งรักกันและอยากจะแต่งงานกัน ตามประเพณีและกฎหมาย ได้รับผลกระทบจากการที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเรียกค่าเลี้ยงดูเป็นค่าสินสอดได้ฝ่ายเดียว เราควร จะรณรงค์ให้มีการยกเลิกกฎหมายที่มีส่วนสนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติในเรื่องเพศไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย และกฎหมายว่าด้วยเรื่องสินสอดเป็นตัวอย่างหนึ่งของกฎหมายที่เลือกปฏิบัติในเรื่องของเพศชาย

ส่วนที่เมื่อมีการยกเลิกแล้วจะมีการเรียกร้องทรัพย์สินเพื่อตอบแทนแต่งงานกันอย่างไรก็ควรเป็นเรื่องการให้ตอบแทนโดยเสน่หาระหว่างกันแล้วแต่ฝ่ายใดจะตกลงกัน แต่ต้องไม่ใช่เป็นการบัญญัติชัดเจนไว้ในกฎหมายที่มุ่งให้แก่เพศใดเพศหนึ่งเพียงเพศเดียว

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคงจะตอบปัญหาในเรื่อง สินสอดตามกฎหมายที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบันกล่าวคือ การสมรสในความหมายของกฎหมายนั้นหมายถึง การจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไม่ใช่เพียงแต่การทำพิธีแต่งงานกันตามประเพณีเท่านั้น

ดังนั้นการจดทะเบียนสมรสแล้ว แม้จะไม่มีพิธีแต่งงาน ก็ถือว่าเป็นการสมรสตามกฎหมายแล้ว และการทำพิธีแต่งงานตามประเพณีแต่ไม่มีการจดทะเบียนสมรส ก็ไม่ถือว่าเป็นการสมรสตามกฎหมาย

สินสอดที่ฝ่ายชายมอบให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองของหญิงนั้น เป็นการให้เพื่อเป็นของขวัญตอบแทนการที่หญิงยอมสมรสและกรรมสิทธิ์ตกเป็นของฝ่ายหญิงไปแล้ว ฝ่ายชายมีสิทธิจะเรียกสินสอดคืนได้ 2 กรณี คือ

1. ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง ซึ่งจะต้องเป็นเหตุที่จะกระทบกระเทือนถึงการสมรสที่จะมีต่อไประหว่างชายหญิงอันจะก่อความไม่สงบสุขในชีวิตสมรสที่จะมีต่อไปในภายหน้า เช่น หญิงไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น หญิงได้รับโรคติดต่ออย่างร้ายแรง หรือหญิงเป็นโรคเอดส์ หญิงต้องคำพิพากษาให้ติดคุก กรณีตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่าทำให้ชายไม่อาจสมรสกับหญิงผู้นั้นได้ ฝ่ายชายจึงมีสิทธิเรียกสินสอดคืนได้

2. ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิง จะต้องรับผิดชอบ จะเห็นได้ว่ากรณีนี้ใช้คำว่าฝ่ายหญิง ซึ่งจะรวมทั้ง บิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาของหญิงด้วย เช่น การที่บิดา มารดา ไม่ให้ความยินยอมให้หญิงผู้เยาว์ทำการสมรส จึงถือว่าเป็นความผิดของฝ่ายหญิงที่ชายมีสิทธิจะเรียกสินสอดคืนได้.

0 ความคิดเห็น: